หลักการสำคัญในการตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงาน เพื่อความคุ้มค่าและประสิทธิภาพสูงสุด
November 19th, 2019
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานเป็นหลักความปลอดภัยที่มีความสำคัญ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อบังคับที่ทุกโรงงานควรให้ความสำคัญและทำตามข้อกำหนด ในการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรงงานจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในโรงงาน ซึ่งหน้าที่ของผู้ที่จะทำการตรวจสอบนั้นคือวิศวกรไฟฟ้า ช่างเทคนิค หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ของฝ่ายวิศวกรรม การตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน และตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานส่วนของการตรวจสอบความปลอดภัยทั่วไป
งานตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานและการซ่อมบำรุงระบบ ถือเป็นหัวใจหลักของระบบการผลิตและทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและไม่เกิดปัญหา สำหรับหลักการตรวจสอบระบบแบบทั่วไปจะเป็นการตรวจสภาพความสมบูรณ์ของระบบไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งผู้ตรวจสอบจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากไฟฟ้าและวิธีการในการป้องกันเป็นอย่างดี โดยการตรวจสอบความปลอดภัยทั่วไปจะเป็นการตรวจสายไฟฟ้า เซอร์กิตเบรกเกอร์ จุดต่อสาย ระบบระบายอากาศในห้องควบคุมไฟฟ้าและท่อไอเสียสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารวมถึงความสมบูรณ์ของแบตเตอรี่ต่าง ๆ
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานในส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า
สิ่งสำคัญของการตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้า คือการตรวจสอบเพื่อทำการบำรุงรักษาในเชิงป้องกัน เพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก และเพื่อให้ทราบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้ามีร่องรอยของการเสื่อมสภาพในจุดไหนบ้าง ควรแก้ไขด้วยการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ โดยการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าจะมีการบันทึกค่า ผลการตรวจ และทำการวิเคราะห์ถึงความสมบูรณ์ทั้งในแง่ของการทำงาน ซึ่งก็มีทั้งการตรวจขณะที่เครื่องจักรไฟฟ้ากำลังทำงานและขณะหยุดการทำงาน การตรวจสอบอุปกรณ์จะมีการตรวจหลายรายการมากกว่าการตรวจสอบความปลอดภัยทั่วไป ได้แก่ การตรวจหม้อแปลงไฟฟ้า ที่จะลงรายละเอียดไปถึงตัวถัง การต่อสายลงดิน สารดูดความชื้น การตรวจตู้เมนสวิตช์ จะตรวจสภาพของระบบสายดินและการต่อหลักดิน ตรวจการทำงานของเครื่องวัดที่หน้าแผง รวมไปถึงความสะอาดเรียบร้อยที่ส่งผลถึงความปลอดภัยในการทำงานของอุปกรณ์นั้น ๆ เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าโรงงานในส่วนเล็กน้อยอื่น ๆ อย่างเช่น การตรวจสอบพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ การประเมินความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัย ระบบไฟส่องสว่าง ซึ่งการตรวจระบบทั้งหมดนั้นผู้ประกอบการควรจัดให้มีการตรวจสอบระบบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อมของโรงงาน อย่างเช่น อุณหภูมิ ความชื้น การกัดกร่อนของสภาพอากาศ ระยะเวลาและความถี่ในการใช้งาน โดยสามารถหาคำปรึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญให้พิจารณาถึงความเหมาะสมได้